วันอาทิตย์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2553

สามเณร บุญนาค เที่ยวกัมมัฏฐาน ของ พระอาจารย์นาค โฆโส

จากใจของผู้จัดทำ



เว็บบล็อก เรื่อง  สามเณร บุญนาค เที่ยวกัมมัฏฐาน ของ พระอาจารย์นาค โฆโส   เป็นประวัติและเรื่องราวของ พระอาจารย์ฝ่ายวิปัสสนากัมมัฏฐาน ซึ่งเขียนขึ้นโดยท่านผู้เป็นเจ้าของประวัติเอง


ท่านได้เล่าเรื่องชีวิตในเยาว์วัยและการผจญภัยในขณะที่ท่านยังเป็นสามเณรใจกล้าออกท่องเที่ยวธุดงค์ปฏิบัติกัมมัฏฐานตามลำพัง เพื่อความรู้ยิ่งเห็นจริงในปรมัตถธรรม ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

โดยท่านได้ธุดงค์ไปตามป่าเขาลำเนาไพรทั้งในดินแดนอีสานของไทย และดินแดนลาว สมัยที่อยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส ซึ่งช่วงนั้นก็ตรงกับสมัยที่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบประชาธิปไตยไม่กี่ปี

ทั้งท่านก็ยังได้เล่าถึงการผจญภัยในเมืองเมื่อตอนประสบกับอุปสรรคต่างๆนานา อันเป็นผลมาจากช่องว่างของความไม่เข้าใจกันระหว่างพระบ้าน กับ พระป่า  ซึ่งเป็นเรื่องราวที่มีสาระและอรรถรสล้วนตื่นเต้นชวนให้ติดตามอ่านเป็นอย่างยิ่ง

เรื่อง สามเณร บุญนาค เที่ยวกัมมัฏฐาน ของ พระอาจารย์นาค โฆโส ที่นำมาเสนอทางเว็บบล็อกในครั้งนี้ เป็นฉบับของชมรมนักเรียนเก่า แอล เอส อี ซึ่งตีพิมพ์ช่วงเข้าพรรษา พ.ศ. ๒๕๓๕

หมายเหตุ
 
มีคนสนใจเป็นอันมากว่า สามเณรบุญนาค หรือต่อมาคือ พระอาจารย์นาค โฆโส พระสายปฏิบัติรูปนี้ ท่านไปพำนักอยู่ที่ไหนมาบ้าง ท่านมีบทบาทในการเผยแผ่และปฏิบัติธรรมอย่างไร และไปมรณภาพที่ไหนและเมื่อไร
ท่านสามารถอ่านเรื่องเหล่านี้ได้จากเว็บลิงค์นี้


สามเณรบุญนาค:เห็นบุพพนิมิต

สามเณรบุญนาค:เห็นบุพพนิมิต 


"หนังสือประวัติ สามเณรบุญนาค เที่ยวกัมมัฏฐาน" ลงวันที่ ๑๖ เดือน ๙ ขึ้น ๙ ค่ำ วันจันทร์ พ.ศ. ๒๔๘๐ เผอิญมีพระเดชพระคุณ ท่านเจ้าจอมมารดาทับทิม ที่วังกรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช พร้อมด้วยคุณนายอั๋นและโยมเข็ม ขอประวัติการณ์ความเป็นมาแล้วของอาตมภาพ ในเวลาหนึ่งโมงเช้า (๗ นาฬิกา) ก่อนรับบิณฑบาต อยู่ ณ ที่ตำหนักในวังนั้น




ก่อนพระเดชพระคุณจะบัญชาให้เขียนประวัติความเป็นมาของอาตมภาพ ในเวลา ๙ ทุ่ม (ตี ๓) นั้น อาตมภาพกลับมาจากเดินจงกรมในลานพระเจดีย์แล้ว เข้ามาที่นั่งสมาธิในห้อง ได้รับบุพพนิมิตเห็นบุรุษแก่คนหนึ่งมาประกาศชื่อของตนว่า "โยมนี้มีชื่อว่า อะสะ กรรมบุรุษ" แล้วตระเตรียมกระแทะ (เกวียน) เทียมโค แล้วว่า "นิมนต์พระผู้เป็นเจ้าขึ้นนั่ง"


ครั้นเมื่ออาตมภาพนั่งเสร็จแล้ว ปรากฏว่า ณ ที่ทั้งปวงเกิด เป็นห้วงน้ำทั้งหมด บุรุษนั้นก็ขับกระแทะเทียมโคพาข้ามน้ำนั้นไป พอพ้นฝั่ง บุรุษแก่คนนั้นแสดงตนเป็นผู้มีฤทธิ์เกิดแสงสว่างรอบตัว แล้วสั่งอาตมภาพว่า "จงระวังกิจที่จะทำในวันต่อไป กลัวจะเป็นภัยแก่ท่าน"


พอรุ่งเช้ามาเป็นเวลาย่ำรุ่ง ๓๐ นาที ก็ออกบิณฑบาต ครั้นไปถึงตำหนักที่พักของพระเดชพระคุณเป็นเวลาหนึ่งโมงเช้า พอนั่งลงประมาณสัก ๕ นาที พระเดชพระคุณท่านก็บัญชาขอให้เขียนประวัติความเป็นมาของอาตมภาพตั้งแต่ยังรุ่นเยาว์ ครั้งแต่เป็นสามเณรเล็ก ๆ จนกระทั่งออกเที่ยวธุดงค์กรรมฐานมาจนบัดนี้


ประวัติความเป็นมาของอาตมภาพ มีคนขอ ๒ ครั้งมาแล้ว แต่ยังมิได้เขียนให้สักคน ครั้งที่ ๑ ขุนอาจ กำนันตำบลฟ้าหยาด ครั้งที่ ๒ ขุนประเทืองอุปราช เจ้าเมืองคำทอง แขวงดินแดนฝรั่งเศส ก็มิได้เขียนให้ บัดนี้เป็นครั้งที่ ๓ ซึ่งพระเดชพระคุณบัญชาขอประวัติ ความเป็นมาแห่งอาตมภาพ อาตมภาพจำต้องลิขิตเขียนเรียนมา เพื่อพระเดชพระคุณทราบ ตั้งแต่ต้นจนอวสานในประวัติการณ์แห่งอาตมภาพ ดังรายละเอียดเรียนมาในสมุดเล่มนี้


สามเณรบุญนาค:อยากห่มผ้าเหลือง

สามเณรบุญนาค:อยากห่มผ้าเหลือง


อาตมภาพเป็นบุตรคนสุดท้องของบิดา มารดา เมื่ออายุได้ ๖ ขวบ พอดีวันนั้นเป็นเดือน ๓ ขึ้น ๓ ค่ำ มารดาพาไปทำบุญวันเกิดของอาตมภาพที่วัด เผอิญหนาวจัด มองเห็นท่านพระครูปานห่มจีวรผืนใหญ่ เข้าใจว่าจะอุ่น ก็ร้องเรียกให้มารดา ขอให้มารดาบอกว่า "ยังไม่บวช เอามาห่มไม่ได้ กลัวบาป"


อาตมภาพมองขึ้นไปข้างบน เห็นพระพุทธรูปที่พิมพ์ใส่แผ่นกระดาษเรียงลำดับ ๑๒ องค์ ซึ่งพระท่านติดไว้บนหัวนอน ถามมารดาว่า "นั้นอะไร" มารดาบอกว่า "นั้นรูปพระเจ้า (พระพุทธเจ้า)" อาตมภาพก็นึกรักใคร่เลื่อมใสในพระพุทธรูปนั้น บอกมารดาขอให้ มารดาไม่ขอ ก็ร้องไห้ขึ้นในทันใดไม่หยุด ตกลงสมภารวัดได้เอามาให้แล้ว ก็นำไปไว้ที่บ้าน


วันหลังถามมารดาว่า "แม่ เวลานี้พระเจ้าอยู่ไหน" แม่บอกว่า "พระเจ้าไปนิพพานแล้ว" จึงขอให้แม่พาไปนิพพานที่พระเจ้าอยู่ แม่บอกว่า "ไปไม่ได้ นิพพานอยู่เมืองฟ้า" ต่อมาวันหลังเห็นพระเดินเที่ยวบิณฑบาตตามลำดับกันมาหลายองค์ คล้ายกับรูปที่ติดอยู่บนหัวนอน นึกว่าเป็นพระเจ้าจึงร้องบอกมารดาว่า "แม่ นั่นพระเจ้ามาหน้าบ้านเรา" มารดาโผล่ออกมาดูเห็นพระไปเที่ยวบิณฑบาต มารดาจึงร้องนิมนต์พระว่า "นิมนต์ก่อนค่ะ" พระก็ยืนเป็นแถวเรียงลำดับกันอยู่ ก็นึกเลื่อมใสมาก


สามเณรบุญนาค:อยากไปอยู่วัด

สามเณรบุญนาค:อยากไปอยู่วัด


ครั้นมารดากลับมาจากใส่บาตรจึงถามว่า "แม่ พระมาจากไหน" มารดาบอกว่า "พระมาจากวัด" ถามอีกว่า "พระมาจากไหนไปอยู่วัด" มารดาบอกว่า "ไปจากบ้านไปบวชอยู่ที่วัด" เมื่อทราบว่าพระไปจากบ้านไปบวชอยู่ที่วัด อาตมภาพก็ขอให้มารดาพาไปบวช มารดาบอกว่า "ยังเล็กบวชไม่ได้" ก็อ้อนวอนขอให้มารดาพาไปฝากไว้วัด มารดาก็ห้ามเป็นครั้งที่ ๒ ว่ายัง เล็กเกินไป ก็ขอไปไม่หยุด ต่อมามารดาไม่พูดด้วยก็ร้องไห้ ว่าอยากไปอยู่วัด ทั้งบ่นทั้งร้องไห้แต่เช้าจนเที่ยง จนไม่กินข้าวสาย (กลางวัน) เพราะเสียใจกลัวมารดาจะไม่ไปฝากที่วัด


ตกลงมารดาก็พาไปวัด เผดียงต่อสมภารว่า "ไอ้หนูร้องไห้ อยากมาอยู่วัด ไม่รู้จะทำอย่างไร" สมภารก็เรียกไปถาม อาตมภาพตอบว่า "อยากบวช" ท่านจึงถามอีกว่า "อยู่กับเราไปก่อนไหม โตจึงบวช" จึงตอบท่านว่า "อยู่" มารดาก็มอบให้อยู่กับพระแต่ วันนั้นเป็นต้นมา


อยู่กับพระไป ๒ เดือน บิดากลับมาจากขายกระบือ ไม่เห็นก็ถามหา มารดาบอกว่า "แกไปอยู่วัด" บิดาก็ออกไปที่วัดถามว่า "แกอยากเข้าไปนอนบ้านไหม" จึงบอกกับพ่อว่า "ไม่อยากไป" พ่อก็มอบให้พระเป็นครั้งที่ ๒

สามเณรบุญนาค:เป็นศิษย์วัดก่อน

สามเณรบุญนาค:เป็นศิษย์วัดก่อน


ครั้นจวนเข้าพรรษา อาจารย์ก็พาไปจำพรรษาที่วัดป่า อำเภอ ยโสธร ไกลจากบ้านเดิมประมาณ ๓ พันเส้น คนเดิน ๓ คืนจึงจะถึง ขณะขี่เกวียนไปตามทาง อาจารย์บอกว่า "อีก ๓ ปีจึงจะให้บวช ไปอยู่ในเมือง เรียนหนังสือกับเขาก่อน" จากนั้นมาก็นึกดีใจมาก เพราะอาจารย์กำหนดการจะบวชให้ในระหว่าง ๓ ปี แต่ยังไม่รู้ว่าอะไรเป็นปีเป็นเดือน ตื่นเช้ามาก็ถามอาจารย์ทุกวัน ว่าถึง ๓ ปีหรือยัง อาจารย์ก็หัวเราะทุกวัน นานเข้าท่านรำคาญ ท่านบอกว่า "ถ้าถึง ๓ ปี จะบอกให้ดอกนะ และจะบวชให้ด้วย ต่อไปนี้อย่าถามอีกนะ จงเรียนหนังสือให้มากๆ จึงค่อยบวช" แต่นั้นมาอาตมภาพก็ตั้งใจเรียนหนังสือในสำนักอาจารย์ต่อไป


จนอายุได้แปดขวบ พอดีตรงกับเดือน ๓ ขึ้น ๓ ค่ำ กลางคืนวันนั้นฝันเห็นพระเจ้าพร้อมทั้งรัศมี สว่างไสว ตื่นนอนขึ้นมารู้สึกคิดถึงมาก จึงกราบพระสวดมนต์ แล้วก็ปรารถนาเป็นพระเจ้าอีกองค์หนึ่ง แต่นั้นไปทุก ๆ วันก็ตั้งใจเก็บดอกไม้บูชาแล้ว ปรารถนาเป็นพระเจ้า

สามเณรบุญนาค:บวชเป็นสามเณร

สามเณรบุญนาค:บวชเป็นสามเณร


จนอายุ ๙ ขวบ อาจารย์ก็บวชให้เป็นสามเณร พอบวชแล้วก็เรียนหนังสืออยู่กับอาจารย์ต่อไปอีกเป็น เวลา ๖ ปี พอดีอายุครบ ๑๔ ขวบเต็ม ๑๕ ปีย่าง เผอิญพระภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งชักชวนไปทำปาณาติบาตฆ่าแย้ ๑ ตัว พอกลับมาถึงวัด


ค่ำลงสวดมนต์ไหว้พระ แล้วประมาณ ๔ ทุ่มก็จำวัด แล้วนิมิตฝันเห็นพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ ๒๓ องค์ นั่งประชุมอยู่ร่มไม้หว้าชมพู และท่านแสดงธรรมว่า "คนจะเป็นสมณะเพราะศีรษะโล้นก็หามิได้ จะเป็นสมณะเพราะผ้าเหลืองก็หามิได้ จะเป็นสมณะเพราะไม่มีภรรยาก็หามิได้ จะเป็นสมณะเพราะเรียนรู้มากก็หามิได้ ผู้เที่ยวไปไม่มีอะไรในชีวิต และถึงพร้อมด้วยความเป็นอยู่ และที่อาศัยเช่นนี้จึงได้นามว่าเป็นสมณะ"


ขณะที่ฝันนั้นปรากฏว่าแดดร้อนจัด อาตมภาพก็เข้าไปอาศัยอยู่ในร่มนั้น ๆ เย็นดี แล้วท่านเอาน้ำให้ฉัน น้ำนั้นเมื่อฉันเข้าไปแสบขึ้นสมอง คล้ายกลิ่นสุราและแสบจมูกมาก เลยตื่นขึ้น ขณะนั้นเป็นเวลา ๗ ทุ่ม (ตีหนึ่ง) เงียบสงัดและเดือนหงายแจ้งสว่าง มองไปเห็นเพื่อนบรรพชิตทั้งพระและสามเณรนอนเกลื่อนกรน อยู่ที่ระเบียงเล็กข้างนอกกุฏิ เพราะฤดูนั้นเป็นฤดูร้อน เป็นเดือน ๔ แรม ๓ ค่ำ จากนั้นอาตมภาพจึงลงจากระเบียงกุฏิเล็ก ไปนั่งอยู่ที่ร่มมะม่วง หวนนึกถึงความฝันที่ปรากฏทั้ง ๔ ข้อ


แล้วนึกถึงมรรยาท และความเป็นอยู่ของพระสาวก และพระศาสดาว่า คงไม่ตลกคะนองคลาดเคลื่อนกันเช่นนี้ พอนึกแล้วก็ตกลงในใจว่า เราจะต้องหลีกออกไปบำเพ็ญความสงบ และมีมรรยาทอย่างที่ปรากฏเห็นในนิมิตนี้ให้จงได้ นึกแล้วนึกเล่าจนนอนไม่หลับอีกในคืนนั้น


สามเณรบุญนาค:ลาอาจารย์ออกธุดงค์

สามเณรบุญนาค:ลาอาจารย์ออกธุดงค์

พอรุ่งเช้าขึ้นมาฉันอาหารแล้ว ก็ลาพระอาจารย์ ท่านก็ไม่อนุญาต บอกพระอาจารย์ว่า "ผมตกลงใจ แล้วตั้งแต่เมื่อคืนนี้ ผมเห็นจะไม่อยู่" ว่าแล้วก็ขอขมาโทษจากอาจารย์ วางขันดอกไม้ไว้ต่อหน้าท่าน แล้วก็หลีกไป

.วันแรกเดือน ๔ แรม ๔ ค่ำ ไปพักที่ป่าช้า บ้านหนองแสง ตอนค่ำลงนึกกลัวผี ได้พิจารณาว่า อะไรเป็นผี ได้ความว่า ใจเป็นผี เพราะร่างและกระดูกเขาเผา และฝังหมดเสียแล้ว ตกลงว่าไม่จริง วัว, ควาย, หมู, ไก่ ก็มีใจทั้งนั้น ทำไมคนกินเนื้อมันได้ เช่น วัว ควาย ยิ่งตัวใหญ่ไม่กลัวผีมันหลอก หรือทำไมกินเนื้อมันได้ ขนเอาเนื้อเอากระดูก มันไปเก็บไว้ที่บ้านทั้งกินเสียด้วย จนกระทั่ง ปู, ปลา ก็มีใจทั้งนั้น หากว่าใจสัตว์ที่ตายแล้ว เป็นผีอยู่กับซากศพที่ฝังไว้แล้วนั้น เป็นผีหลอกคน ถ้าเช่นนั้นคนที่ฝัง ซากวัว ซากควายลงที่ท้องของตน ก็จะไม่เป็นอันอยู่อันนอน เพราะผีมันจะหลอก เปล่าทั้งนั้น ไม่ปรากฏเลยว่า ค่ำมาคนนั้นคนนี้ถูกผีวัวควายหลอก หรือผีหมู ผีไก่หลอก ก็เปล่าทั้งนั้น


ตกลงว่า มนุษย์นี้หลอกกันทั้งนั้น สิ่งใดกินเนื้อมันเห็นว่าไม่ใช่ผี สิ่งใดไม่ได้กินเนื้อ เขาบอกว่ากลัวผีมันหลอกดังนี้ มนุษย์ที่ตายแล้วฝังอยู่ป่าช้าเช่นนี้ ล้วนแล้วแต่ยังไม่อยากตาย ใจของมันไม่อยากตายอยู่แล้ว เพราะมันกลัวป่าช้า ตายแล้วที่ไหนมันจะมา ถ้าใจของคนยังมีติดอยู่ที่กาย ทำไมมันจะตาย ใจคนหนีไปแล้ว ตั้งแต่อยู่บ้านเรือน ขณะมันตายทีแรกนั้นมิใช่หรือ มันจึงตาย เมื่อพิจารณาเช่นนี้ ตั้งแต่วันนั้นมา ขึ้นชื่อว่าป่าช้า อยู่ได้ทุกแห่งไป ไม่ต้องกลัวผีอีก


สามเณรบุญนาค:ข้ามโขงสู่แคว้นลาว

สามเณรบุญนาค:ข้ามโขงสู่แคว้นลาว


เดินเที่ยวพักไปตามป่าช้าบ้านอื่นๆ ต่อไปได้ ๙ คืน ถึงฝั่งแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นแดนของฝรั่งเศสเป็นเวลา ๕ โมงเศษ ขอข้ามเรือกับแกว (คนญวน) คนหนึ่ง พอข้ามไปถึงฝั่งนั้นมีหมู่บ้านเล็กตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ยังไม่มีวัด อยู่ใกล้ริมภูเขา ชื่อ บ้านแก้งกะอาก พอไปถึงหมู่บ้านนั้นมืดพอดี ผู้ใหญ่บ้านเขานิมนต์ให้ขึ้นพักจำวัดที่เรือน เพราะกลัวช้างป่า เขาบอกว่ามันเข้ามารบกวนหมู่บ้านนั้นทุกวัน


เมื่อได้ยินเขาเล่าเช่นนั้น อาตมภาพก็ยืนพิจารณาอยู่ครู่หนึ่ง ได้ความว่า บัดนี้เราเป็นบุตรของพระศาสดา เราจะเชื่อความเป็นพ่อของเราในข้อที่ว่า อย่าลุอำนาจแก่ความกลัวซึ่งเป็นอคติข้อที่ ๔ หรือเราจะเชื่อความหลงที่เราเคยกลัวมาแต่ปุเรชาติ (ชาติปางก่อน)


ตกลงในใจว่าหากความกลัวมีประจำใจมาแล้ว ตั้งแต่วันเกิดทุกตัว สัตว์คงจะพากันทำแต่ดีเพราะความกลัว แล้วมนุษย์และสัตว์ทั้งโลกนี้ก็จะวิเศษกันไปหมดแล้ว ตกลงว่าหัวใจสัตว์ทั้งโลกมีความกลัวนี่มาเป็นประจำสันดานอยู่ทุกตัวสัตว์ ตัวเราเองก็มัวแต่กลัวอยู่เช่นนี้ หัวใจเราก็จะแค่หัวใจสัตว์เท่านั้น ไม่เห็นแปลกจากสันดานสัตว์


นึกแล้วก็ตั้งใจอดทนต่อความกลัว เดินผ่านบ้านนั้นไป คนในบ้านนั้นทักท้วงว่า พระกรรมฐานท่านไม่พักเรือนคน ขณะนั้นก็มีความกลัวอยู่อย่างระส่ำระสาย แต่นึกถึงความอดทน คือ ขันติบารมี ว่าเป็นธรรมอันจะพึงบำเพ็ญส่วนหนึ่ง ตกลงว่าเวลานั้นจำเป็นจำไป เพราะอดทนต่อความกลัวต่อสัตว์ร้ายนั้น มิใช่ไปด้วย ความหมดกลัว อย่างไม่กลัวผี


สามเณรบุญนาค:เผชิญหน้าช้างป่า

สามเณรบุญนาค:เผชิญหน้าช้างป่า


พอไปถึงที่แห่งหนึ่ง เป็นหนทางช้างเดินแถบชายภูเขา ขณะนั้นยังไม่รู้ว่าที่นั้นเป็นทางช้าง เห็นแต่ว่าที่นี้เตียนดี เมื่อเราต้องการเดินจงกรม ก็จะได้เดินตามแนวนี้ และที่นั้นมีต้นตะเคียนใหญ่ และมีเครือหวายเป็นพุ่มห้อยล้อมต้นตะเคียนดกหนา เป็นร่มดี อาตมภาพจึงตรึงกั้นมุ้งลง (ปักกลด) เพื่อพักอาศัยในที่นั้นเสร็จแล้วก็นั่งสมาธิในที่นั้น


ต่อมาตอนดึกจวนรุ่งเวลา ๙ ทุ่ม (ตี ๓) เผอิญมีช้างเผือกใหญ่ตัวหนึ่งเป็นประธานในช้างทั้งหลาย เดินผ่านเชือกที่แขวนกลด ทำให้ขาดตกลงแล้วได้ยินเสียงช้างกระดิกหูดังโปะๆ ก็นึกตกใจว่านี่เป็นเสียงอะไร เปิดมุ้งขึ้นดูเห็นช้างยืนใกล้กลดอยู่ ก็นึกตกใจจนหายใจไม่ออก แน่นหน้าอกขึ้นมา ก็ค่อยคลานออกจากมุ้งเข้าไป อาศัยพุ่มหวายที่รกห้อมล้อมต้นตะเคียนอยู่ ไม่ช้า ช้างก็ฉวยเอามุ้งขึ้นพาดบนศีรษะของมัน แล้วจับเหวี่ยงลงมาแล้วก็เอาเท้าขยี้ ทำดังนี้จนมุ้งและกลดแหลกละเอียดไม่มีชิ้นดี ช้างยืนอยู่ครู่หนึ่งแล้วก็หันหน้าไปทางต้นตะเคียน แล้วดึงเครือหวายตรงที่นั้นกินเป็นอาหาร ตกลงว่าเวลานั้นได้ซ่อนตัวอยู่ในพุ่มหวายใต้คางช้าง


อีกไม่นานหมู่ช้างก็เดินตามกันมาอีก ๒๑ ตัว มาทันช้างตัวที่กินหวายอยู่ก่อนนั้น ต่างตัวก็มายืนห้อมล้อมต้นตะเคียนดึงเครือหวายลงมากินเป็นอาหาร อาตมภาพรู้สึกแน่นหน้าอกหายใจไม่ออก เพราะความกลัวอยู่สักครู่หนึ่ง นึกขึ้นได้ว่า มาคราวนี้ เพื่อบำเพ็ญกิจของพระศาสนา ฉะนั้นขออันตรายทั้งหลายจงพินาศฉิบหายไปด้วยอำนาจคุณพระรัตนตรัย


พออธิษฐานเสร็จแล้วก็เกิดคันตามลำคอ และแสบจมูกขึ้นมา ทนไม่ได้ก็ไอและกระแอมขึ้นมาด้วยเสียงอันดัง ฝ่ายช้างทั้งหลายเหล่านั้นตื่นเสียงไอ ก็พากันวิ่งแตกตื่นหนีไป ในขณะนั้นก็พอดีสว่าง ออกมามองหาบาตรและห่อผ้า เห็นไปอยู่ในเหวซึ่งช้างมันเหวี่ยงลงไป ก็ค่อย ๆ คลานลงไปที่เหว เอาบาตรและผ้าขึ้นมาได้ แล้วก็ครองผ้าอุ้มบาตร เข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้านนั้น


นายดีผู้ใหญ่บ้านถามว่า "คุณพักที่ไหน ช้างไม่รบกวนคุณหรือ" อาตมภาพก็นิ่งอยู่ไม่พูดและไม่ ตอบกระไร แกก็แปลกใจบ่นว่า "พระเณรอะไร ถามไม่พูด" แกก็ตามออกไปดูที่อยู่ เห็นรอยช้างมันขยี้กลดและมุ้งแหลกป่นปี้ แกจึงถามอีกเป็นครั้งที่สองว่า "เวลาช้างมันมาทำลายของท่านใต้เท้าไปอยู่ที่ไหน ช้างจึงไม่ทำร้ายตัวของใต้เท้าด้วย" อาตมภาพก็นั่งฉันข้าวเรื่อยไป มิได้พูดและตอบโยมคนนั้น ด้วยคำใดคำหนึ่งเลย


สามเณรบุญนาค:เจอเสือ

สามเณรบุญนาค:เจอเสือ


พอฉันเสร็จแล้วก็ตะพายบาตร ไต่ชายเขาไปประมาณสัก ๘๐ เส้น พบบึงน้ำมีบัวหลวง บัวทอง จอกแหนต่าง ๆ มีร่มไม้สดชื่นหลายอย่างตามริมบึง แต่บึงนั้นมีฝั่งชันและสูง มีทางลง ๕ แห่ง เป็นที่อาศัยของสัตว์ทั้งหลาย เป็นต้นว่า เสือ, ช้าง, หมี, ลิง, กระทิง สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้อาศัยกินน้ำในบึงนั้น อาตมภาพไปถึงก็พิจารณาว่า "ที่นี้มีน้ำใสดีและป่าไม้ก็สดชื่น ควรแล้วที่เราผู้ต้องการความสงบจะต้องพักบำเพ็ญอยู่ที่นี่" แล้วก็หลีกไปอาศัยอยู่ร่มไทรที่ตั้งอยู่ชายเขา ห่างจากบึงประมาณ ๑๐ เส้น


พอตะวันค่ำลง ประมาณ ๕ โมงเย็น เผอิญมีเสียงเสือร้องเสียง ฮ้าวฮือๆ ฮ้าวฮือๆ ดังจากหลังเขาจะมากินน้ำในบึงนั้น เสียงเสือร้องดังก้องมาในทิศทั้งสี่ อาตมภาพได้ยินเข้าก็ตกใจ พิจารณาไปว่า "บัดนี้เรานำชีวิตมาสู่อันตราย ด้วยหวังเพื่อบำเพ็ญบารมี" เมื่อตกลงใจเช่นนี้ เกิดขนพองสยองเกล้าอย่างน่าพิศวง คือปรากฏว่าขนทั้งตัวยาวออกข้างละแขนตั้งขึ้นตรง เสียงเสือยิ่งร้องใกล้เข้ามาทั้ง ๔ ตัว มาตัวละทิศ ขณะนั้นเกิดแน่นหน้าอก ลำคอแข็ง น้ำตาทั้งสองข้าง ไหลหยดหยาดออกมา หยิบจีวรในบาตรมาห่มคลุมปิดทั้งตัวทั้งศีรษะ นั่งขัดสมาธิแล้วนึกอะไรยังไม่ออก เพราะยังแน่นหน้าอกและคอแข็ง น้ำตาทั้งสองข้างก็ไหลไม่หยุด

สามเณรบุญนาค:ผีสะม่อยกินไส้พุง

สามเณรบุญนาค:ผีสะม่อยกินไส้พุง


อยู่มาประมาณ ๕ ทุ่ม ก็มีลิงไม่ใหญ่ไม่เล็กขนาดกลาง ๆ ลงมาจากต้นไทร มาร้องโวก ๆ เวียนอ้อม ๓ รอบ แล้วมานอนอยู่บนหน้าตัก เอาศีรษะหนุนเข่าขวา ร้องเสียงโวกๆ ดังนั้นอยู่เรื่อยไป จนประมาณ ๖ ทุ่ม จึงนึกได้ว่าจะเป็นเช่นนี้กระมังที่โบราณท่านว่า ผีสะม่อยกินไส้พุงคนนอนค้างเขากลางคืน


พอนึกได้เช่นนี้แล้ว อาการแน่นหน้าอกก็ค่อยทุเลาลง พอให้นึกอะไรต่อไปได้ จึงได้ตั้งสัจอธิษฐานว่า

"สาธุ..สาธุ..สาธุ..ข้าแต่เทพยดาทั้งหลาย พร้อมด้วยคุณพระรัตนตรัย หากว่าข้าพเจ้ายังมีกรรมเวรกับสัตว์ตัวหนึ่งตัวใดแล้ว ขอสัตว์เหล่านั้นจงมาล้างผลาญทำลายชีวิตของข้าพเจ้า ให้เป็นไปตามยถากรรมนั้นๆ หากว่าข้าพเจ้ามิได้มีกรรมเวรกับสัตว์ตัวหนึ่งตัวใดแล้ว ก็ขอให้ปฏิปทาการบำเพ็ญบารมีของข้าพเจ้า จงเป็นไปอย่าได้ขัดข้องด้วยอันตรายทั้งหลาย อันจะพึงมีในเบื้องหน้า"


พออธิษฐานเสร็จลง ลิงตัวนั้นก็กระโดดออกไปขึ้นบนต้นไทร ทันใดก็นึกขึ้นได้ว่า "เราคงจะไม่มีเวร เพราะพอสำเร็จอธิษฐาน ลิงก็หนีทันที" ก็นึกดีใจขึ้นมา ได้บริกรรมกำหนดนึก พุทโธๆ ตามหายใจเข้าหายใจออกอยู่เรื่อยไป


พอจวนสว่าง เสือก็ร้องฮ้าวฮือ ๆ ขึ้น ก็แน่นหน้าอกขึ้นอีก น้ำตาทั้งสองข้างก็ไหลหยดหยาดซึมซาบออกมา ไม่ช้าช้างก็ร้องเสียงดังเอ๊ก ๆ เอกขึ้นอีก ขณะนั้นใจสะดุ้งขึ้นมาก็อึดอัดที่ต้นคอ หูดังอื้ออยู่ครู่หนึ่ง ปรากฏว่าลิ้นแข็ง ฟันออกมาที่ริมปาก แล้วก็หูดับและไม่รู้อะไร ในระหว่างนั้นคล้ายๆ กับว่านอนหลับไม่ฝัน ก่อนจะรู้สึกตัวคล้ายกับนอนฝัน แต่ยังนั่งอยู่ ปรากฏว่ามีหญิงสาวหนุ่มคู่หนึ่ง ถือดอกบัวมาดอกหนึ่งมาถวายแล้วบอกว่า ท่านจงทนไปเถิด ท่านจะเป็นผู้หมดเวรในชาตินี้ แล้วก็รู้สึกตัวขึ้นทันที


สามเณรบุญนาค:ผู้ใหญ่บ้านนึกว่าเป็นเณรบ้า

สามเณรบุญนาค:ผู้ใหญ่บ้านนึกว่าเป็นเณรบ้า


พอดีสว่าง ก็ไปเที่ยวบิณฑบาตที่หมู่บ้านนั้นอีก พอไปถึงหมู่บ้าน นายดีผู้ใหญ่บ้านบอกแก่ชาวบ้านนั้นว่า "ท่านองค์นี้ท่านมาบิณฑบาต ใครมีศรัทธาก็จงใส่บาตรให้ท่านไปเถิด ใครไม่มีศรัทธาก็แล้วไป ส่วนตัวเราเข้าใจว่าจะเป็นคนบ้ากระมัง ถามไม่พูด มิฉะนั้นก็จะเป็นคนพิกลมาจากแห่งหนึ่งแห่งใดเป็นแน่ "วันนั้นมีคนใส่บาตรให้ ๒ คน ได้ข้าวประมาณเท่า ๒ ฟองไข่เป็ด แล้วก็กลับไปฉัน พอฉันเสร็จตอนกลางวันก็นั่งสมาธิ และเดินจงกรมไปตามเคย


ครั้นค่ำลงตอนเย็น เสือมันร้องฮ้าวฮือ ๆ ทุกวัน ๆ พอได้ยินเสียงเสือร้องขึ้น ก็เกิดแน่นหน้าอก น้ำตาไหลซึม ออกมาดังนั้นทุกวันไป ตอนกลางคืนนอนไม่หลับเลยสักนิด นั่งอย่างไรก็อยู่อย่างนั้น หากจะเคลื่อนตัวหรือเดินไปมาในเวลากลางคืน ก็นึกกลัวว่าเสือหรืออะไรมันจะมองเห็น เอาผ้าจีวรห่มคลุมศีรษะแล้วก็นั่งนิ่งอยู่ เพื่อจะให้สัตว์ที่มามองเห็นว่าเป็นตอไม้ไป มันจะได้ไม่ทำอันตรายแก่เรา ทำอย่างนั้นอยู่ในที่นั้น ๓ วัน ส่วนเวลากลางวันก็เดินจงกรม นั่งบ้าง นอนบ้าง ตามธรรมดา ส่วนกลางคืนนั่งทำทีเป็นตอไม้ไปเลย


สามเณรบุญนาค:เห็นนิมิต ได้แรงใจ

สามเณรบุญนาค:เห็นนิมิต ได้แรงใจ


อยู่ต่อมาถึงวันคำรบ ๔ คิดปรารภจะกลับบ้านและสำนักวัดเดิม ไม่ช้าในขณะคิดจะกลับคืนสู่สำนักวัดเดิมนั้น มีตะขาบใหญ่ตัวหนึ่งวิ่งออกมาจากรูหิน มาอยู่ตรงหน้า แล้วก็กัดสะดือกินไส้ของตนจนเกือบจะขาดเป็นท่อนแล้วก็ตายไป ก็นั่งพิจารณาอาการของสัตว์นั้นอยู่ ไม่ช้าก็มีเต่าใหญ่ตัวหนึ่งคาบผลมะสั้นลูกโต ๆ เข้ามาวางติดกับเข่า หยุดอยู่ครู่หนึ่งแล้วก็หลีกไป


อาตมภาพก็นั่งพิจารณาอาการสัตว์ทั้งสองที่ปรากฏขณะนั้น ได้ความว่า "หากเราเพียรทำลายความกลัวของเราได้ แล้วเราก็จะมีผลดังเต่าตัวโง่ ๆ ทำไมมันยังเอาผลไม้มาให้เราดูได้ ถึงความกลัวนี้ไม่หาย เราก็จะอดทนต่อความกลัวอยู่ต่อไป ก็จะได้บำเพ็ญขันติบารมี คือว่า จะกลัวเพียงใด ก็อดทนอยู่อย่างนั้นเอง ทนต่อความกลัวอยู่ที่นั้น ตอนค่ำมา พอเสือร้องขึ้น เสียง ดังฮ้าวฮือๆ ก็แน่นหน้าอก น้ำตาไหลออกมา อยู่ เช่นนั้นได้ ๑๐ วัน


สามเณรบุญนาค:ท้อแท้ใจอยากตาย

สามเณรบุญนาค:ท้อแท้ใจอยากตาย


ในวันคำรบ ๑๐ ตอนเย็น เสือร้องที่บนเขา ก็แน่นหน้าอกอีก จึงนึกขึ้นมาว่า เราทนต่อความกลัวมาเป็นเวลา ๑๐ วันแล้ว ไม่เห็นหายสักที เป็นทุกข์อยู่ดังนี้ร่ำไป หากจะกลับบ้านก็กลัวเพื่อนบรรพชิต พร้อมทั้งอาจารย์จะดูถูกเรา ว่าไปไม่กี่วันก็กลับมาแล้ว ไม่เห็นเป็นอะไรไปได้ที่ไหน เราก็จะอายขายหน้าและรำคาญหู ตกลงว่าเราตั้งใจไปหาความดี ซ้ำจะเอาความโง่ของตนคืนไปสู่สำนักวัด ให้คนอื่นเขาดูถูกปฏิปทาของศาสนา ทั้งเราก็จะเป็นทุกข์ต่อไป เพราะจะรำคาญหู เขาจะเย้ยเล่นว่าเราเป็นกรรมฐานก้อม (ฉาบฉวย)


ตกลงถึงจะอยู่ที่นี้ก็เป็นทุกข์ จะกลับคืนสู่สำนักวัดก็เป็นทุกข์ กลัวเขาจะไม่เชื่อถือข้อประพฤติของเราอีกต่อไป คือเห็นเป็นคนไม่จริงกลับกลอก หากว่าเราไปให้เสือกัดตายในวันนี้เสีย ก็ดีกว่าจะทนทุกข์อยู่ดังนี้ไปอีกหลายวัน ถ้าเรายังไม่ตายอยู่ต่อไปอีก พรุ่งนี้หรือมะรืนนี้ ก็จะเป็นทุกข์เพราะความกลัวเช่นนี้ หากว่าเสือกัดให้เราตายเสียแล้วในวันนี้ ก็ใครเล่าจะมากลัวให้เป็นทุกข์อยู่ที่นี้อีก ตกลงว่า เอาเถิดเป็นทุกข์ เพราะเสือกัดไม่กี่ชั่วโมงก็ตายไป ดีกว่าเราจะทนทุกข์อยู่เช่นนี้ต่อไปอีกหลายวัน


คิดตกลงแล้ว ก็เตรียมครองผ้าให้เรียบร้อยเป็นปริมณฑล แล้วก็ตรงไปยังท่าน้ำบึงที่เสือเคยลงกินน้ำทุกวัน พอลงไปถึงริมน้ำแล้วก็นั่งขัดสมาธิพิจารณาว่า เมื่อมันมากินเรา มันก็คงกัดที่ตรงคอเรานี้ ประเดี๋ยวก็ตายเท่านั้น ไม่ต้องลำบากอีกหลายวัน คิดแล้วก็ตั้งปณิธานปรารถนาว่า "หากข้าพเจ้าตายลงไปในวันนี้ ด้วยอำนาจแห่งคุณธรรมทั้งหลาย มีผลแห่งการรักษาศีลเป็นต้น จงดลบันดาลข้าพเจ้าให้ได้ถึงสุคติมีสวรรค์เป็นเบื้องหน้า"


อธิษฐานเสร็จก็นั่งอยู่ ไม่ช้าเสือก็มาถึง นั่งหลับตาอยู่ ได้ยินเสียงหายใจเสือดังเสียงกึกฮือๆ เข้าก็ลืมตาขึ้น เห็นเสือตัวใหญ่สี่มุม มองดูเท้าหน้าทั้งสองของเสือใหญ่เท่าต้นคอของเรา นึกแล้วก็แน่นหน้าอกขึ้นมาทันที น้ำตาก็หยดหยาดลงมาในขณะนั้น แล้วก้มตัวลงหมอบอยู่ คอยให้เสือเข้ามากัด ไม่ช้าเสือครางขึ้นเสียงดังกึกฮือ ๆ แล้วก็เอาฝุ่นดินมาใส่ถูกศีรษะ ๓ ที


แล้วเสือก็กระโดดขึ้นบนฝั่งบึง ร้องเสียงดังฮ้าวฮือ ๆ ไกลออกไปจึงเงยขึ้น นึกได้ว่า เสือมันไม่กินเรา เพราะอันตรายยังไม่มาถึง นึกแล้วก็ขึ้นฝั่งบึง เดินตามหลังเสือห่างกันประมาณ ๑๐ กว่าวา พอเสือมองเห็นก็ทำท่าตะครุบ ก็เดินตรงเข้าไปหาเสือยังอีกประมาณ ๒ ก้าว เสือก็กระโดดหนีไปตามชายเขา ส่วนอาตมภาพก็เดินกลับไปที่พักร่มไทร



สามเณรบุญนาค:เป็นตายเป็นเรื่องของกรรม

สามเณรบุญนาค:เป็นตายเป็นเรื่องของกรรม


ขณะกำลังเดินไปนั้นพลางพิจารณาว่า ขึ้นชื่อว่ามนุษย์คือสัตว์วิเศษ แปลว่า พวกใจสูง สูงพร้อมด้วยบุญญาภิสังขาร จึงได้เกิดมาเป็น มนุษย์ ตกลงว่า ใครทั้งหมดในโลกนี้จะอยู่ได้ทน เพราะความกลัวก็หามิได้ หรือว่านึกอยากตายแล้วก็ ตายลงทันทีหามิได้ ข้อนี้หมายความว่า ชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์คงอยู่ได้หรือตายลงก็ดี ต้องเป็นไปตามยถากรรมของสัตว์ตามให้ผลเท่านั้น


พิจารณาเช่นนี้แล้วก็ถึงร่มไทร นั่งลงที่ก้อนหินที่เคยพักแล้วก็พิจารณาต่อไปว่า เช่นเราเวลานี้คิดอยากตาย ทั้งไปให้เสือกัดกินเสียด้วย ข้อนี้กรรมยังรักษาอยู่ยังไม่ให้ผลให้ความตายมาถึง จึงไม่ตายเหมือนคนอื่นที่เขาตายก่อนเรา ยังอยู่ในบ้านเรือนเสียด้วย มีพี่น้อง ญาติวงศ์รักษาไม่อยากให้เขาตาย คนที่ตายไปนั้นเขาก็ไม่อยากตาย แล้วก็ไม่เห็นว่ามีใครทำให้เขาตาย ทำไม เขาตายไป? ความเป็นอยู่ได้หรือความตายไปเหล่านี้ มิได้อยู่ในความปกครองต้องการของใครเสียแล้ว ความเป็นอยู่หรือความตายเป็นเรื่องของกรรมจะให้ผล เป็นส่วนพิเศษนอกเหนือจากความปกครองของใจ


มิใช่ ว่าใจนี้จะปกครองชีวิตได้โดยเด็ดขาด เช่นใจยังไม่อยากตายเลย พอเจ็บปวดที่ไหน เจ้าใจต้องนึกหายามาใส่ ผลที่สุดก็ตาย เช่นใจของเราเวลานี้ นึกอยากตาย ก็ไม่เห็นมันตาย ข้อนี้อย่าเลย เจ้าใจเอ๋ย ชีวิตความเป็นอยู่นี่หรือจะตายลงเมื่อไรก็ดี มิได้มีกรรมสิทธิ์ในเจ้าเสียแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ควรแล้วหรือที่เราจะมานึกกลัวตาย หรืออยากตายให้เป็นทุกข์เปล่า ๆ มิเข้าเรื่อง เข้าการความเป็นอยู่หรือความตายไป มีตัวกรรม เป็นเจ้าของ เขาทำหน้าที่นั้นเป็นส่วนพิเศษ เราจะไปหวงแหนช่วยให้เขาทำให้ดีขึ้นกว่านี้ก็เปล่า หรือนึกจะทำลายของของเขาจนไปยอมให้เสือกัดเสียมันก็ไม่กัด เพราะเจ้าของเขารักษาอยู่


เมื่อพิจารณาตกลงเช่นนี้แล้ว ก็รู้สึกหายกลัว ตกค่ำมืดประมาณ ๑ ทุ่ม รู้สึกง่วงนอนมาก ก็นอนทับลงที่ลานหินนั้น เงยหน้าขึ้น มองดูดวงดาวสดใสก็นึกสบายใจขึ้น ชั่วครู่ เสือก็ครางขึ้นใกล้ ๆ เสียงฮ้าวฮือ ๆ ใจก็นึกขึ้นทันทีว่า "บัดนี้ ข้าพเจ้ารู้ดีแล้ว ชีวิตนี้มิได้มีกรรมสิทธิ์ในข้าพเจ้า" ใจจึงนึกสั่งเจ้าของชีวิตคือเจ้ากรรมว่า "เจ้ากรรมเอ๋ย ผู้เป็นเจ้าของแห่งชีวิต บัดนี้เสือมาใกล้เข้าแล้ว เห็นสมควรเช่นไร เจ้าก็จงจัดการไปตามเรื่องนั่นแหละหนอ" นึกแล้วก็นอนหลับต่อไป ขณะหลับอยู่นั้นฝันว่าช้าง เผือกมาจับยกเอาทั้งตัวขึ้นนั่งบนศีรษะ แล้วก็เดินพาไปพักอยู่ร่มไม้ใหญ่เย็นเงียบ


สามเณรบุญนาค:พิจารณาสติปัฏฐาน ๔

สามเณรบุญนาค:พิจารณาสติปัฏฐาน ๔


ไม่ช้าก็ตื่น พอตื่นขึ้นมาก็นึกพยากรณ์ความฝันของตนว่า ฝันเช่นนี้ปฏิปทาของเราจะเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป จึงพิจารณาต่อไปว่า "แต่ก่อนเรามีความกลัวมาปิดกั้น สันดานจนนึกอะไรไม่ออก บัดนี้ความกลัวอันนั้นก็ถึงความพ่ายแพ้ไปแล้ว บัดนี้เราควรจะบำเพ็ญธรรมบทไหนหนอ" พิจารณาไปมาก ๆ ก็ระลึกขึ้นได้ว่า

"สติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ พระพุทธเจ้าทรงรับรองว่าเป็นธรรม อันบุคคลเจริญให้มากแล้ว ก็จะได้บรรลุธรรมาภิสมัย (การบรรลุธรรม) ภายใน ๗ ปีบ้าง ๗ เดือนบ้าง ๗ วัน บ้าง"


จากนั้นอาตมภาพก็นั่งสมาธิพิจารณาต่อไปว่า กายก็สักเพียงว่าแต่กาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัว ตน เรา เขา เรียก กายานุปัสสนา และเวทนา สุขทุกข์ ก็ไม่ใช่เรา เรียก เวทนานุปัสสนา และจิตก็ไม่ใช่เรา เรียก จิตตานุปัสสนา และธรรมานุปัสสนา ที่คิดพล่านกับจิตก็ไม่ใช่เรา เรียก ธรรมานุปัสสนา


เมื่อพิจารณาเสร็จก็เกิดความสลดใจขึ้นมา ว่าเราปฏิบัติเพื่อจะละกายอันเป็นมนุษย์ที่เจืออยู่ด้วยความทุกข์ เพื่อจะได้ความสุขเวทนาอันเกิดแก่ทิพสมบัติ สุขนั้นก็มิใช่เราและของเราเสียแล้ว หรือจิตผู้จะเสวยความสุขก็ไม่ใช่เรา และไม่เป็นของเราเสียแล้ว และธรรมารมณ์ผู้จะรับรู้ซึ่งความสุขอันเราจะพึงได้ ก็ไม่ใช่เราและไม่เป็นของเราเสียแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ ปฏิปทาที่บำเพ็ญอยู่ด้วยความลำบากถึงเพียงนี้ เมื่อไรหนอจะเป็นคุณสมบัติอันจะพึงได้พึงถึง


เพราะว่ากายก็ดี เวทนาก็ดี จิตก็ดี ธรรมก็ดี พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า ไม่ใช่เราและไม่เป็นของเราเสียแล้ว ตัวเวทนาคือความเสวยทุกข์ เสวยสุข และอุเบกขาเวทนา ความเสวยในเวทนาทั้ง ๓ นี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราเสียแล้ว ผลจะพึงได้อันเกิดแก่การรักษาศีล และเมตตาภาวนา จะพึงมีที่ไหนหนอ พิจารณาไม่ตกลงก็เกิดความสลดใจมากขึ้น


พอดีสว่างรุ่งเช้าขึ้นก็เดินไปบิณฑบาต ขณะ เดินไปบิณฑบาตก็พิจารณาไปพลางว่า ทุกข์อันเกิดแต่ความรำคาญก็ปรากฏอยู่ที่เรา สุขอันเกิดแต่ความชื่นใจก็ปรากฏอยู่ที่เรา หากสุขเวทนาก็ดี ทุกขเวทนาก็ดี อุเบกขาเวทนาก็ดี พระพุทธเจ้าท่านว่าไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ทำไมหนอจึงปรากฏอยู่ในสันดานของข้าพเจ้า ไม่รู้สิ้นรู้สุดเช่นนี้ พอเข้าไปถึงบ้าน เผอิญนายดีผู้ใหญ่บ้านแกลงมาบอกว่า "คนเช่นคุณไม่รู้ว่าบ้าหรือ คนพิกลอย่างหนึ่งอย่างใด จะอยู่อาศัยหมู่บ้านนี้นานไม่ได้ จงหลีกไปเถิด" พอกลับจากบิณฑบาต ฉันเสร็จ ก็เตรียมของหลีกไปในวันนั้น


สามเณรบุญนาค:เห็นเสือกินคน

สามเณรบุญนาค:เห็นเสือกินคน


เดินข้ามเขาไป ๒ ลูก ไปถึงดงตะเบิงนาง พอดีตอนเที่ยงรู้สึกหิวน้ำ ก็แวะลงไปในคลองกลางดงนั้น พอลงไปที่ท่าน้ำ เห็นเสือกัดบุรุษคนหนึ่ง เสือกำลังดึงกัดกินแต่ต้นขาขวาเท่านั้น ก็ยืนพิจารณาว่า "เจ้ากรรมเอ๋ย กรรมเช่นนี้ เจ้าเคยทำหรือไม่ หากใช่กาลอันถึงพร้อมแล้ว ก็ตามยถากรรม มิใช่กาลถึงพร้อมแล้ว คือไม่เคยทำเวรกันมาแต่ก่อน ก็ขอปฏิปทา ของข้าพเจ้าจงเป็นไปในศาสนา อย่าได้ขัดข้อง" พออธิษฐานเสร็จแล้วก็นั่งลงฉันน้ำ ส่วนเสือก็กระโดดมาจากคนที่ตายอยู่นั้น ข้ามศีรษะขึ้นริมบึง


เมื่ออาตมภาพฉันน้ำเสร็จแล้ว ก็ขึ้นฝั่งคลองตามหลังเสือไป พอเสือมองเห็นก็วิ่งขึ้นหน้าไปก่อนประมาณ ๒๐ เส้น เดินติดตามไปในไม่ช้าก็พบเสือตัวนั้นหมอบอยู่ ทำท่าจะตะครุบ จึงพิจารณาขึ้นว่า "หากเราทั้งสองเคยเป็นกรรมกันมาแล้วอย่างใด ก็จงเป็นเช่นนั้นเถิด หากไม่เคยเป็นกรรมหรือเบียดเบียนกันแล้ว ก็จงอย่าได้เบียดเบียนกันเลย" อธิษฐานเสร็จแล้ว ก็ตรงเข้าไปหาเสือประมาณ ๕ ศอก เสือกระโดดเข้าป่าไป จึงเดินข้ามดงนั้นไป ประมาณ ๓ ทุ่มเศษก็พ้นจากดง

สามเณรบุญนาค:ทำผิดผีชาวข่า

สามเณรบุญนาค:ทำผิดผีชาวข่า


ไปถึงหมู่บ้านชื่อ นาบันได เป็นหมู่บ้านของข่าซึ่งไม่มีศาสนา มองเห็นศาลเจ้าของเขา นึกว่าเป็นศาลาที่พักนอกบ้าน ก็ขึ้นพักที่นั้นโดยไม่รู้การปฏิบัติของเขา จึงไปเอายางไม้เต็งจุดไฟขึ้นที่ศาลเจ้าของเขา ชาวบ้านเขามองเห็นก็ถือตะเกียงและหอก ดาบ หลาว แหลนต่าง ๆ มาทำท่าจะทุบตีบ้าง จะฟันบ้าง จะแทงบ้าง แล้วพูดขึ้นไม่รู้ภาษากันได้แต่สั่นศีรษะเท่านั้น


เขาจึงไปตามล่ามมา เขามาถามเป็นภาษาลาวว่าจะไปไหน จึงได้บอกเขาว่าจะไปกรรมฐาน แต่คนนั้นบอกว่า "เจ้ามาอยู่ที่นี่ เจ้าจุดไฟผิดผีของพวกชาวบ้านแล้ว เจ้าจงไปหาซื้อควายมาเลี้ยงผีเขาก่อนจึงไปได้" อาตมภาพบอกเขาว่าไม่มีเงิน แต่คนนั้นขอคลี่ดูย่ามและบาตรและสายคาดเอว เห็นไม่มีเงิน แกจึงขอมีดโกนกับผ้าสบง ได้ยอมให้แต่ผ้าสบง และเขาให้ตัดผ้าสบงผืนนั้นออกเป็น ๑๖ ท่อน แล้วเขาก็แจกกัน


ในคืนวันนั้นจึงได้อาศัยอยู่นั้นตลอดรุ่ง พอสว่างตอนเช้าก็เข้าไปบิณฑบาต ก็มีเฉพาะแต่คนพูดภาษาลาวเขาใส่ให้ ได้ข้าวก้อนหนึ่งประมาณเท่าไข่เป็ด จึงกลับไปฉันที่ศาลา เสร็จแล้วก็เดินต่อไปเข้า เขาส้มโรง ในวันนั้น


สามเณรบุญนาค:เรียนมนต์พระเจ้า ๕ พระองค์

สามเณรบุญนาค:เรียนมนต์พระเจ้า ๕ พระองค์


ข้ามเขาไปได้ ๔ ลูก เลียบไปตามชายเขา พอประมาณ ๕ โมงเย็น มองหาที่พัก เผอิญมองไปเห็นสามเณรองค์หนึ่ง นั่งนับลูกประคำอยู่ เข้าไปถาม ไม่พูดด้วย เป็นแต่เขียนหนังสือบอกว่า "ผมอยู่ เมืองหงสาวดีเที่ยวธุดงค์ไปกับอาจารย์ บัดนี้อาจารย์ตายเสียแล้ว ยังเหลือแต่ผมคนเดียว บัดนี้อายุผมได้ ๑๗ ปี จะเที่ยวไปโดยไม่อาลัย (ในชีวิต) ผมชื่อเณรจวง" จึงพักอาศัยอยู่ในถ้ำเดียวกันในคืนวันนั้นจนตลอดรุ่ง


พอสว่างรุ่งเช้าขึ้นมา สามเณรรูปนั้นจึงกวักมือเรียกอาตมภาพว่า "สามเณร ท่านจงเข้ามานี่" ครั้นอาตมภาพเข้าไปถึงสามเณรรูปนั้นจึงพูดว่า "ต่อไปนี้ บ้านมนุษย์อยู่ห่าง เมื่อท่านต้องการอาหารแล้ว รุ่ง เช้าขึ้น ท่านจงฟังเสียงชะนีมันร้อง เมื่อชะนีร้องมากชุกชุมที่ไหน ท่านจงเข้าไปที่นั้น เพราะชะนีกินผลไม้เป็นอาหาร ท่านไปถึง เมื่อท่านต้องการ ท่านก็จะได้ฉันผลไม้นั้นเป็นอาหาร"


ว่าแล้วก็นั่งนิ่งอยู่ อาตมภาพจึงขอลาท่านไป สามเณรนั้นจึง พูดว่า "ท่านจะเดินทางต่อไป ท่านจงเรียนพระพุทธมนต์ (พระเจ้า) ๕ พระองค์กับผมก่อน ท่านจะไปด้วยความสวัสดิภาพ" อาตมภาพถามว่า "พุทธมนต์นั้นอย่างไร" สามเณรจึงบอกว่า "นะ เมตตา โม กรุณา พุท ปรานี ธา ยินดี ยะ เอ็นดู ท่านจงเจริญบ่อย ๆ ท่านจะปลอดภัย" จากนั้นอาตมภาพจึงลาเณรแล้ว เดินทางต่อไปอีก ๓ วัน ยังไม่พบบ้านคน ฉันแต่ผลไม้เป็นอาหาร




สามเณรบุญนาค:คนป่าเปลือยกาย

สามเณรบุญนาค:คนป่าเปลือยกาย


วันคำรบ ๔ เดินไปพลางมองขึ้นไปบนยอดภูเขา เห็นต้นยาใหญ่ มองไกล ๆ คล้ายกับเจดีย์ เพราะฤดูนั้นเป็นฤดูใบยาร่วงเป็นพัก ๆ คล้ายกับต้นมะพร้าว แต่ต้นมันใหญ่ ปลายมันเล็ก คล้ายกับยอดเจดีย์ อาตมภาพจึงขึ้นไปดู เห็นใบพร้อมทั้งเปลือก เข้าใจแน่ได้ว่าเป็นยาแท้ จึงเก็บเอาใบแห้งมาสูบดู ก็เป็นรสเมาอย่างยาที่มีอยู่ตามบ้านคน อาตมภาพจึงเอามีดโต้ เล่มเล็ก ๆ ที่ติดย่ามไปนั้นบาก (ถาก) ต้นยาได้สองกีบ (ชิ้น) ก็ถือไป


จวนค่ำก็ถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่งมี ๖ หลังคาเรือน ไม่รู้ชื่อหมู่บ้านเพราะคนเหล่านั้นเป็นข่าไม่รู้ภาษากัน อาตมภาพจึงแวะเข้าจำวัด อาศัยเงื้อมหินที่ชายเขา รุ่งเช้าก็เข้าไปบิณฑบาต เห็นคนแก่คนหนึ่งนั่งหลามข้าวโพดสาลีอยู่ ผ้าก็ไม่นุ่งห่มเลย อาตมภาพจึงไปยืนที่หน้าบ้านแก แกก็คว้าไม้ท่อนฟืนตรงเข้ามาหา ทำท่าจะตีอาตมภาพ อาตมภาพมองเห็นเช่นนั้นก็หลับตายืนตรงอยู่กับที่ ไม่ช้าแกตรงเข้ามา จับชายจีวรแล้วพูดขึ้นแต่ไม่รู้ภาษา อาตมภาพจึงตรงเข้าจิ้มมือลงในกระบอกหลามข้าวโพด แกก็เอามาให้หมดทั้งกระบอก อาตมภาพก็เลี่ยงไปนั่งฉันอยู่ ณ ลานหินทิศตะวันออก คนแก่คนนั้นแกก็ตามไปดู แล้วก็คลานเข้ามาจับฝ่าเท้าของอาตมา แสดงความรักใคร่ แกหัวเราะขึ้นแล้วก็กลับเข้าไปในบ้าน


เรียกเพื่อนบ้านมาดูทั้งหญิงทั้งชาย ล้วนแต่ไม่มีผ้านุ่งห่มทั้งนั้น ผลที่สุดผู้หญิงก็จะเข้ามาใกล้ ๆ จับขาอย่างตาแก่คนนั้น อาตมภาพจึงโบกมือห้าม แล้วตรงไปจับเอาแต่มือผู้ชายด้วยกันให้เข้ามา ใกล้ ๆ แล้วโบกมือห้ามผู้หญิงไม่ให้เขาจับ ผู้ชายเหล่านั้นก็รู้นัย เขาจึงห้ามผู้หญิงไม่ให้เข้ามาใกล้และจับตัว


สามเณรบุญนาค:เจริญอานาปานัสสติ

สามเณรบุญนาค:เจริญอานาปานัสสติ


ตอนบ่าย อาตมภาพก็เข้าไปอาศัยอยู่เงื้อมหินเป็นที่อาศัยนอน คนเหล่านั้นก็ตามไปดู ที่นั้นมีร่มไทร และต้นตะเคียน มีบ่อน้ำ ใบไม้สดชื่น อาตมภาพจึงพิจารณาว่า ที่นี้จะเป็นที่สบายเหมาะแก่การบำเพ็ญสมณธรรม ตกลงพักแรมทำความเพียรเจริญอานาปานัสสติอยู่ที่นั่น ๑๙ วัน แล้วจึงเดินข้ามเขาไปอีกวันจนค่ำ


ไปถึงหมู่บ้านข่าแห่งหนึ่งมีบ้านประมาณ ๙ หลังคาเรือน ซึ่งเป็นข่าตะโอ่ย เข้าไปตั้งอยู่ใหม่ มีข่าสองคน พอส่งภาษาลาวได้มาถามว่า "เจ้าสิไปไส" ถ้าคำไทยว่า "คุณจะไปไหน" อาตมภาพตอบว่า "จะไปเที่ยวกรรมฐาน" แกจึงบอกว่า "ต่อไปข้างหน้านี้ บ้านคนห่างและส่งภาษากันไม่รู้เรื่อง อย่าไปดีกว่า"


ตกลงอาตมภาพก็ไปหาถ้ำอาศัยจำพรรษาอยู่ที่นั้น ก็มีคนสองคนนั้นใส่บาตรให้ฉัน อาหารบิณฑบาตเป็นข้าวโพดหลามด้วยกระบอกไม้ อาตมภาพก็อาศัยจำพรรษาอยู่ที่ถ้ำนั้น บำเพ็ญเพียรเพ่ง อาโปกสิณ คือเพ่งน้ำเป็นอารมณ์ บำเพ็ญอารมณ์นี้เป็นที่สบายใจ อยู่จำพรรษาในที่นั้นนับว่าปลอดภัย ไม่มีอันตรายมาเบียดเบียน



สามเณรบุญนาค:เรียนคาถาสำเร็จ

สามเณรบุญนาค:เรียนคาถาสำเร็จ


ตอนออกพรรษาแล้ว ๕ วัน จึงเที่ยวต่อไปอีก ข้ามเขา ๓ ลูกจวนจะค่ำยังไม่พบบ้านคน อาตมภาพก็แวะขึ้นเขา หาน้ำฉันเพื่อจะพักจำวัดที่นั้นด้วย เผอิญไปพบพระหลวงตาองค์หนึ่ง หาบตะกร้าใหญ่เที่ยวเก็บผลมะเดื่ออยู่หน้าถ้ำ อาตมภาพจึงถามท่านว่าอยู่ที่ไหน ท่านตอบว่า "ผมอยู่ในจักรวาล" อาตมภาพจึงตะกายขึ้นไปพักที่ถ้ำ วางบาตรไว้แล้วไปสรงน้ำ เสร็จกลับมา พระหลวงตาองค์นั้นก็มาพักที่ถ้ำแห่งเดียวกัน จำวัดด้วยกันในถ้ำนั้น


ท่านเรียกอาตมภาพ ไปเรียนคาถาด้วย ท่านบอกว่า "คาถาสำเร็จ" คือ จะปรารถนาอะไรก็สำเร็จตามประสงค์ใจความว่า "โอม อุ อะ มะ นะโม พุทธายะ สะ สุมัง" ท่านบอกว่า "ให้เณรเจริญเป็นนิตย์ เณรจะสมหวังดังความตั้งใจ ในชาตินี้และชาติหน้า" พออาตมภาพเรียนจนจำได้แล้ว ท่านก็ลงไปในเวลา ๗ ทุ่ม (คือ ตี ๑)


ในกลางคืนวันนั้น อาตมภาพถามว่า "ท่านจะไปไหน" ท่านตอบว่า "จะไปเที่ยวในจักรวาล" อาตมภาพถามว่า "ท่านชื่ออะไร" ท่านตอบว่า "ผมชื่อพระ" แล้วก็เดินเรื่อยไปตามชายเขา อาตมภาพจำวัดอยู่ที่นั้นจนสว่าง มีงูตัวหนึ่งโตประมาณ ๑ จับ (กำมือ) เลื้อยมาเอาหางสอดเข้าที่น่องของอาตมภาพ แล้วรัดจนแน่น ไม่นานก็เอาหางออกมาแหย่ไปตามตัวตามรักแร้อยู่นาน สว่างขึ้นมันจึงคลายตัวออก แล้วเลื้อยเข้าไปในถ้ำนั้น


สามเณรบุญนาค:เรียนรู้วิธีหาอาหารในป่า

สามเณรบุญนาค:เรียนรู้วิธีหาอาหารในป่า


จากนั้นอาตมภาพก็ลุกขึ้น ฟังเสียงชะนี ชะนีร้องมากที่ไหนก็ไปที่นั้น เพื่ออาศัยฉันผลไม้เป็นอาหาร เพราะว่าป่าดงเหล่านี้มีผลไม้ครบทุกชนิด เช่น กล้วย ขนุน ส้ม ฝรั่ง มะเดื่อ หรือส้มจีน มีมากมายหลายชนิด ชะนีกินไม่หวัดไม่ไหว อาตมภาพก็เก็บผลไม้นั้น ฉันเป็นอาหาร


และเดินต่อไปอีก ๓ คืน ยังไม่พบบ้านคน ไปพบคนจำพวกหนึ่ง ไม่มีบ้านไม่มีเรือน อยู่ อาศัยตามถ้ำตามเขา กินผลไม้เปลือกไม้เป็นอาหาร ไม่ห่มผ้าห่มผ่อนเลย ส่วนลูกอ่อนของเขา เอารังผึ้งที่มันร้างแล้วมาห่มให้ และปูให้เด็กนั้นนอน พอไปพบเข้า เขากลัวแตกตื่นวิ่งหนี ทิ้งไม้สีไฟและเครื่องมือใช้สอยและรังผึ้งร้าง อาตมภาพก็เข้าไปตรวจดูเห็นแน่ชัดว่า พวกนั้นเขากินผลไม้และเปลือกไม้เป็นอาหาร


สามเณรบุญนาค:พระเณรประหลาด

สามเณรบุญนาค:พระเณรประหลาด


อาตมภาพก็เดินข้ามเขานั้นไปอีกเป็นเวลา ๓ คืน ถึงเมืองพาบัง มีวัด เจดีย์ โบสถ์และศาลา มีพระศาสนาอย่างเมืองเรา แต่พระเณรเมืองนั้นฉันข้าวค่ำ และจับต้องสตรีในอาวาสไม่เป็นอาบัติ จับต้องสตรีนอกอาวาสจึงเป็นอาบัติ ดังนั้นอาตมภาพจึงพักอยู่ ที่นั้น ๑๖ วัน ถูกเจ้าอาวาสขับไล่ เพราะเห็นว่าแข่งดีเขา เพราะฉันหนเดียว ประเทศนั้นเป็นคนยาง มีคนลาวเมืองหล่มคนหนึ่งไปอยู่ที่นั่น พอส่งภาษากันได้


อาตมภาพจึงหนีจากที่นั้น เดินข้ามเขามาอีก ๒ คืน ไปพบบ้านหนึ่งชื่อ บ้านป่าเหล็ก มี ๔๐ หลังคาเรือน เป็นคนพวกส่งภาษาลาวได้ แต่ไม่มีวัด พวกนี้ทำไร่ข้าวโพดกินเป็นอาหาร และมีบึงน้ำใหญ่ ในระหว่างดงป่าไม้ใกล้กับตีนเขา


สามเณรบุญนาค:สุขทุกข์อยู่ที่ใจ

สามเณรบุญนาค:สุขทุกข์อยู่ที่ใจ


อาตมภาพพิจารณาเห็นว่า ที่นี้เป็นที่จะบำเพ็ญ สมณธรรมดี อาตมภาพจึงพักอยู่ที่นั้นอีกประมาณ ๑๓ เดือน ตกลงจำพรรษาที่นั้นอีกพรรษาหนึ่ง บำเพ็ญใจให้นิ่งอยู่ที่ลมสุดคือ ที่ว่างตรงสะดือ รู้สึกว่าได้ความสบาย เพราะจิตนิ่งอยู่ที่เดียว ได้ความ ว่า ทั้งโลกนี้เป็นทุกข์ เพราะใจทำงานคือคิดไม่หยุด คนทั้งโลกนี้ก็เป็นทุกข์เพราะใจเท่านั้น จะเป็นสุขก็เพราะใจเท่านั้น จิตนี้นำมาซึ่งอารมณ์ เป็นที่พอใจก็เป็นสุขขึ้น เมื่อจิตนำมาซึ่งอารมณ์เป็นที่ไม่พอใจ ก็เป็นทุกข์ขึ้นเท่านั้น


สาธุชนผู้ปฏิบัติทางใจ มีสติเป็นหลักฐานพอเป็นที่อาศัยจิตให้จิตเฉยอยู่ มิให้จิตนำมาซึ่งอารมณ์เป็นที่พอใจ และอารมณ์ไม่เป็นที่พอใจ ดักจิตเฉยอยู่ที่อารมณ์อันเดียวทั้งกลางวันและกลางคืน จิตไม่นำมาซึ่งอารมณ์ทั้งสอง ทั้งส่วนเป็นที่พอใจและไม่พอใจ ไม่มีแล้ว ทุกข์จะมาทางไหน เมื่อจิตเฉยอยู่ที่เดียวนั้น ได้ศัพท์ ว่า วิหรติ แปลว่า ย่อมอยู่สบาย "สบาย" ศัพท์นี้ ไม่ใช่สุข ไม่ใช่ทุกข์ เฉยๆ นั่นเอง ตกลงสถานที่ ที่อาตมภาพบำเพ็ญเพียรโดยวิธีดักจิตอยู่นี้ชื่อ ถ้ำนางแพง


สามเณรบุญนาค:เจอสัตว์ประหลาด

สามเณรบุญนาค:เจอสัตว์ประหลาด


อยู่พอพ้นเขตเข้าพรรษาแล้ว ก็เที่ยวไปตามภูเขา อีกประมาณ ๕ วัน ไปถึงภูเขาลูกหนึ่งชื่อ ภูเขา อ่างเงิน เพราะมีหนังสือจารึกแผ่นศิลาเป็นตัวลาวอ่านได้ความว่า "นี้ภูเขาอ่างเงิน เป็นที่พักของพระองค์เจ้าธิดาเมต" และที่นั้นมีบึงน้ำใหญ่ไหลออกมาจากภูเขา แต่น้ำนั้นฉันไม่ได้เพราะมีกลิ่นคาวคล้ายกับน้ำล้างไส้เดือน ถึงจะล้างมือล้างเท้าก็ ติดมือติดเท้า พอได้กลิ่นก็ทนอาเจียนไม่ได้


อาตมภาพเห็นน้ำเหม็นเช่นนั้น จึงพักพิสูจน์ดูว่า น้ำนี้เป็นเพราะอะไรจึงคาวนัก นั่งเข้าสมาธิอยู่ที่นั้น ประมาณ ๕ โมงเย็น เสียงน้ำหยุดไหล ลืมตาขึ้นมาก็ไม่เห็นน้ำไหลจริงๆ ไม่ช้าเห็นสัตว์ชนิดหนึ่ง ตัวคล้ายกับปลาไหลเลื้อยออกมาจากรูนั้น ใหญ่ประมาณ ๔ จับ (กำมือ) ยาวประมาณ ๑๒ ศอก มีสีแสดเหมือนอิฐบ้าง เหลืองบ้าง แดงบ้าง สีน้ำเงินบ้าง เลื้อยลงไปสู่บึงที่มีในภูเขานั้น


สามเณรบุญนาค:สาธุวันดีผู้ทรงฤทธิ์

สามเณรบุญนาค:สาธุวันดีผู้ทรงฤทธิ์


ต่อจากนั้น อาตมภาพจึงเดินขึ้นเขา ไปหาถ้ำที่สำหรับจำวัด เพราะเดือนมืดจะเดินกลางคืนก็เห็นจะลำบาก พอขึ้นไปบนหลังเขา ไปพบพระองค์หนึ่งชื่อ สาธุวันดี ท่านบอกว่า ท่านอยู่เมืองหลวงพระบาง ขณะนั้นอายุของท่านองค์นั้นกำลัง ๒๕ ปี ท่านถามอาตมภาพว่า "เณรเที่ยวมานานแล้ว ได้คุณวุฒิอะไรบ้าง" อาตมภาพก็เล่าตามเรื่องที่เป็นมาของตนให้ท่านฟัง


ท่านจึงแนะนำว่า "บุคคลผู้บำเพ็ญเพียร หากรู้ว่าบุพเพ (อดีตชาติ) ของตนเป็นมาแล้วอย่างไร คนนั้นจะมีความเพียรก้าวหน้าไม่ท้อถอย เพราะว่าชาติที่เป็นมาแล้ว สุขบ้าง ทุกข์บ้าง ดีบ้าง ชั่วบ้าง เป็นสัตว์บ้าง เป็นมนุษย์บ้าง เมื่อเห็นเช่นนี้ว่า ความเกิดเป็นมนุษย์และสัตว์ในโลกมีภพอันเป็นไปปรกติ ผู้นั้นจึงกล้าต่อความเพียรนั้นอีกในโลกนี้ เหตุนั้นผู้เห็นบุพเพนิวาสานุสสติแล้ว จึงมีความเพียรก้าวหน้าไม่หยุด ผู้บำเพ็ญทั้งหลายเมื่อชำนาญการดักจิตแล้ว ควรบำเพ็ญปัญญาจักษุอันนี้ให้เจริญขึ้น จึงจะไม่ท้อถอยต่อการบำเพ็ญ"


อาตมภาพจึงถามท่านว่า "ปฏิบัติมาแค่ผม ควรบำเพ็ญแล้วหรือยัง" ท่านตอบว่า "การดักจิตของเณรก็ชำนาญบ้างแล้ว แต่ขาดปัญญาจักษุ เหตุนั้นควรอบรมปัญญาจักษุให้กล้าก่อน จึงควรต่อไป" จากนั้นท่านก็แนะนำทางปัญญาจักษุ พอควร แล้วท่านจึงแสดงฤทธิ์ของท่านบางสิ่ง บางอย่าง เช่น หายตัว คือ ขณะนั้นไปเที่ยวบิณฑบาตด้วยกันกับอาตมภาพ อาตมภาพเดิน ตามหลังท่าน ท่านเดินก่อน ทายกเขาไม่เห็นท่าน บิณฑบาตก็ไม่ได้ ได้เฉพาะแต่อาตมภาพผู้เดินตามหลัง


ที่ถ้ำนั้นมีบ้านอาศัย บิณฑบาต ๕ หลังคาเรือน ทำไร่ข้าวเป็นอาชีพ เป็นคนชาติพวน อาตมภาพพักศึกษากรรมฐานกับ ท่านองค์นั้นอยู่ ๑๖ วัน จากนั้นออกเดินตามคลองชายฝั่งเป็นถนน คือท่านเดินไต่หลังน้ำไป เป็นของสุดวิสัยของอาตมภาพที่จะตามได้ จึงเป็นอันว่าหมดหนทางจะตามท่านไปด้วย


สามเณรบุญนาค:เจ้าคณะแขวงเมืองลาวขับไล่

สามเณรบุญนาค:เจ้าคณะแขวงเมืองลาวขับไล่


อาตมภาพก็เดินไปตามเขาอีก ๒ วัน ไปถึงเมืองวัง ไปพักอยู่ ถ้ำเต่างอย ไปเที่ยวบิณฑบาตที่หมู่บ้านแดง ทางประมาณ ๑๐๐ เส้น ที่นั้นมีบ่อน้ำ เป็นที่สบายแก่การบำเพ็ญสมณธรรม อาตมภาพพักทำความเพียร เพ่งกสิณอาโปธาตุ บ้าง บางทีเพ่ง อากาศธาตุ บ้าง บำเพ็ญอยู่ที่นั้น ๒ พรรษา เกิดเรื่อง อธิกรณ์ ๔ ครั้ง คือไปอยู่ทีแรก เจ้าคณะแขวงเรียกเข้าไปในเมือง ตรวจดูใบสุทธิ อาตมภาพบอกว่าไม่มี อุปัชฌายะ เจ้าคณะแขวงบอกว่า "เณรต้องเข้ามาอยู่วัดด้วยหมู่คณะ อย่าไปอยู่ถ้ำอยู่เขาคนเดียว ไม่สมควร"


อาตมภาพบอกว่า "ผมบำเพ็ญกรรมฐาน ขอใต้เท้าจงให้โอกาสแก่ผมบ้าง" ท่านตอบว่า "บำเพ็ญอะไรข้าไม่รู้ ถ้าเป็นพระเณรแล้ว ควรเข้าไปอยู่ในวัดทั้งนั้น" อาตมภาพได้ยินคำนี้นึกขึ้นได้ว่า "ที่นี้จะเป็นอุปสรรคแก่การบำเพ็ญสมณธรรม แต่ถ้าเราทนอยู่ได้ เราก็จะได้บำเพ็ญขันติบารมี" เมื่อนึกขึ้นมาเช่นนี้ อาตมาจึงกราบลาท่านเพื่อจะออกไปอยู่ถ้ำตามเดิม


ท่านบอกว่า "พรุ่งนี้จะต้องเข้าอยู่วัดนะ อย่าไปอยู่ป่าอยู่เถื่อนตามลำพังของตน เพราะเป็นเณรต้องอยู่ในบังคับของพระ" อาตมภาพก็นิ่งไม่พูดออกจากวัดของท่าน ก็กลับเข้าไปอยู่ถ้ำตามเดิม อธิษฐานไม่พูด จะบำเพ็ญแต่สมณธรรมอย่างเดียว ใครจะว่าอะไร ไม่พูดด้วย ตั้งหน้าบำเพ็ญความเพียรอย่างเดียวอีก ๑๐ กว่าวัน เจ้าคณะแขวงใช้พระให้ไปบอกเข้ามาอยู่วัด อาตมภาพก็นั่งทำสมาธิเรื่อยไป ไม่พูดด้วย พระที่ไปถ้ำมาบอกแก่เจ้าคณะแขวงว่า "เณรเอาแต่นั่งสมาธิหลับตาอยู่ ไม่พูดด้วย" วันหลังต่อมา เจ้าคณะแขวงให้นายตำบล (กำนัน) ไปไล่ "ถ้าไม่ไปต้องไปหาเจ้าคณะแขวงในวันนี้"


อาตมภาพก็เข้าไปหาเจ้าคณะแขวงในเมือง แต่ไม่พูด ท่านถามว่าจะไปไหนก็ไม่พูด จะเข้ามาอยู่ในอาวาสด้วยไหม ก็ไม่พูด ท่านถามอะไรๆ ก็ไม่พูด ท่านดุด้วยคำหยาบคายหลายอย่างหลายประการ หนักเข้านั่งสมาธิอยู่ที่นั้นตลอดวันยันรุ่ง ดักจิตอยู่ ไม่ให้จิตตามเอาอารมณ์อะไรทั้งหมด เข้ามาสิงอยู่ภายในใจ รู้สึกสบาย และทำความเข้าใจว่า


คำพูดอะไรทั้งหมดเป็นสักเพียงแต่เสียง เป็นธาตุอันหนึ่ง ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เป็นสักแต่ว่าเสียง เสียงอันใดเป็นที่พอใจของตน ก็ว่าเสียงนั้นดี เสียงอันใดไม่เป็นที่พอใจของตน ก็ว่าเสียงชั่ว ที่จริงเสียงนั้นจะได้เป็นรูปเป็นกาย เป็นหญิง เป็นชาย ก็หามิได้


ตกลงทั้งโลกนี้จะสงัดจากเสียงไม่มี เพราะหูเรายังมีอยู่ เข้าบ้านก็เสียงคน ออกป่าดง ก็เสียงสัตว์ เช่น อยู่ป่า สัตว์บางชนิดร้องเสียงเพราะ เป็นที่พอใจเรา ก็ว่าเสียงดี บางทีเสียงสัตว์บางตัวร้องขึ้น ไม่เป็นที่พอใจ เราก็ว่าเสียงนั้นชั่วร้าย ผลที่สุดลมพัดต้นไม้เสียงออดแอดซะนิดหน่อย เป็นที่พอใจน่าฟัง ก็ว่าเสียงนั้นดี หากพายุมันพัดมาแรง เสียงอึกทึก ครึกโครม เรากลัวก็ว่าเสียงนั้นร้ายหรือชั่ว


ที่จริงเสียง หรือหูเท่านั้นเป็นไปตามธรรมดาของโลก เช่น หูถ้าเสียงดังขึ้น ไม่ฟัง ก็ได้ยิน หรือเสียงดีหูไม่ได้ต้องการฟัง มันก็ดังขึ้นเอง เหตุนั้นมิเป็นการควรละหรือที่เรา จะทำโทษหูที่ได้ยินและเสียงที่ดังขึ้น อันเป็นไปตามธรรมดาวิสัยของโลก



สามเณรบุญนาค:ฝันเห็นเทวดา

สามเณรบุญนาค:ฝันเห็นเทวดา


เมื่ออาตมภาพพิจารณาได้เช่นนี้ ก็มีความอิ่มอกอิ่มใจ มิได้โศกเศร้าเสียใจในกิริยาที่ท่านขู่เข็ญ ดุดันต่างๆ ไม่ช้าอาตมภาพก็ไปพักจำวัดอยู่ที่โบสถ์ หลับไปฝันเห็นเทวดาเหาะมาทางอากาศ มาบอกอาตมภาพว่า "ดูกรเจ้าสามเณร จะมีผู้มาขัดขวางต่อปฏิปทาของท่าน อย่างน่าพิศวงใจ"


อาตมภาพตื่นนอนขึ้นมา แล้วก็พิจารณาว่า "อะไร จะขัดขวางข้อปฏิปทาของข้าพเจ้ายิ่งกว่าความตายไม่มี แม้แต่เสือเคยทำท่าจะกัด ข้าพเจ้าก็สละชีวิตมาหลายหนแล้ว มิได้ทอดธุระเลยว่า จะไม่ปฏิบัติศีลธรรมต่อไปอีก นี้มนุษย์เหมือนกัน ที่สุดท่านก็คงฆ่าให้ตายเท่านั้น ชีวิตนี้ถึงไม่มีคนฆ่าก็จะตายเองอยู่แล้ว ส่วนความดีคือศีลธรรม เราไม่ปฏิบัติเอาก็ไม่ได้ ตกลงเราจะหวงชีวิตที่จะตายเองอยู่เปล่าๆ มาละศีลธรรมอันเป็นที่พึ่ง ทั้งในภพนี้และภพหน้า มิเป็นการควรเลย"


สามเณรบุญนาค:นิ่งเสียตำลึงทอง

สามเณรบุญนาค:นิ่งเสียตำลึงทอง


เมื่ออาตมภาพตกลงเช่นนี้แล้ว ก็ออกจากโบสถ์ เข้าสู่ถ้ำที่อยู่ตามเดิม บำเพ็ญเพียรพิจารณา อนัตตา ธรรม เป็นลำดับไป มิได้เพ่งกสิณอย่างเดิม โดยเหตุว่าปัญญาเกิดขึ้น ทั้งนี้ก็เนื่องจากอุปสรรคเช่นนั้น จะเป็นอันตรายแก่ข้อปฏิบัติ บำเพ็ญอยู่ที่นั้นตลอดฤดูแล้ง ต่อมาฤดูฝนจวนเข้าพรรษา ญาหลวงเมืองวัง ไทยเราเรียกนายอำเภอ ต้องการอยากพบสามเณรกรรมฐานที่ไม่พูด อยู่ถ้ำเต่างอย จึงใช้ปุลิศ (ไทยเรียกตำรวจ) ไปนำตัวของอาตมภาพไปที่ว่าการอำเภอ แล้วซักไล่ ไต่ถามด้วยอรรถด้วยธรรม เป็นต้นว่า ศีล ๑๐ กรรมบถ ๑๐ เหล่านี้เป็นต้น และกรรมฐาน ๔๐ คืออะไรบ้าง


อาตมภาพก็นั่งพิจารณาว่า คนเช่นนี้มิใช่ผู้ถามเพื่อปฏิบัติ มาถามเพื่อทดลองเล่นเท่านั้น เมื่อจะกล่าวแก้ หรือก็ไม่เห็นประโยชน์แก่ผู้มาถามด้วยความประมาท เช่นนี้ ทั้งเราก็เปล่าทั้งนั้น ก็คงเป็นสักเพียงแต่จะพูด ให้เขาเห็นดีในตนเท่านั้น ตกลงดีหรือชั่วเราก็ปฏิบัติเอาเท่านั้น จะได้มาจากคำพูดให้ผู้อื่นเห็นดีก่อนจึงจะดีก็หามิได้ เมื่อพิจารณาเช่นนี้ อาตมภาพก็นั่งนิ่ง ไม่พูด นายอำเภอแกก็ว่า คนเช่นนี้จะเป็น พระเป็นเณรอย่างไรได้ ทั้งใบ้ทั้งหนวกทั้งบ้า


อาตมภาพก็พิจารณาขึ้นทันที ทักท้วงจิตของตนว่า นี้เขาว่าใคร จิตรับว่า เขาว่าให้ธาตุ ๔ คือ รูป เมื่อไม่มีธาตุ ๔ คือ รูปนี้ เราก็ไม่เห็น เขาก็ไม่ว่า เพราะข้าพเจ้า คือ จิต ไม่มีตัว เขาก็ไม่เห็น เมื่อไม่เห็น เขาจะว่าใคร หูเท่านั้นเป็นผู้ได้ยิน เขาดูถูกก้อนธาตุ เขาไม่ได้ดูถูกใจ เพราะใจไม่มีตัว เขามองไม่เห็น เขาจะดูถูกได้อย่างไร ผู้ที่ว่าเขาก็คงมองเห็นก้อนธาตุคือหน้าตานี้เป็นเรานั้นล่ะ จากนั้นเขาจึงว่า เขามองเห็นก้อนธาตุ ๔ เขาก็ว่าไป ตามความพอใจของเขา จะยุ่งอะไรนัก อาตมภาพก็หลับตาลง นั่งขัดสมาธิขึ้นในทันใด อยู่อย่างนั้นทั้งวันตลอดค่ำ


พอสว่างก็ออกไปนั่งอยู่ที่วัด มีคนเขาหาข้าวมาให้ฉัน อาตมภาพฉันแล้วก็กลับไปสู่ถ้ำตามเคย บำเพ็ญเพียรพิจารณาวิปัสสนาภูมิตั้งต้นแต่ขันธ์ ๕ เป็นต้นไป อยู่จนจวนวันเข้าพรรษา