วันอาทิตย์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2553

สามเณรบุญนาค:แสดงโวหารเทศนา


สามเณรบุญนาค:แสดงโวหารเทศนา


นับแต่ออกพรรษาแล้ว เดือน ๑๒ วันเพ็ญ ก็มีผู้คนไปทำบุญเพื่อจะฟังธรรมเทศนา แม้กระทั่งนายอำเภอเมืองวังก็ออกไปด้วย เมื่อฉันเสร็จก็มีคนอาราธนาธรรม อาตมภาพจึงได้แสดงธรรมในข้อที่ว่า "สุขินทริยัง ทุกขินทริยัง มายุปะมัญจะ วิญญาณัง


อธิบายว่า ความสุขซึ่งเป็นของมีจริง ทั้งเป็นใหญ่ด้วย แต่ไม่เที่ยง เป็นความทุกข์ ทางกายทางใจก็มีจริง ทั้งเป็นใหญ่ด้วย แต่ไม่เที่ยง ถูกหลอก เจ้ามายาคือ วิญญาณัง เจ้าวิญญาณตามรู้แจ้งว่าสิ่งนี้เป็นสุข เข้าอาศัยความสุขที่มาถึงพร้อมชั่วขณะจิตรู้ แล้วก็หายไป เพราะความสุขอันเกิดแก่ความพอใจเนื่องมาจาก ความคิดในอารมณ์อันเป็นที่พอใจแล้ว ก็สุขหรืออิ่มใจ ขึ้นประเดี๋ยวเดียวเท่านั้นแล้วก็เสื่อมไป เพราะเขาเป็นของไม่เที่ยง ประเดี๋ยวก็ไปฉวยเอาความคิดและอารมณ์ อันไม่เป็นที่พอใจ ก็เป็นทุกข์ขึ้นมาเท่านั้น ประเดี๋ยวทุกข์นี้ก็หายไป ก็ไปฉวยเอาอารมณ์อันอื่นอีก


ตกลงความสุขอันเกิดจากความยินดี และพอใจในสิ่งที่ตนต้องประสงค์เท่านั้น จัดเป็นที่พึ่งแน่นอนยังไม่ได้ คือบรรดาสาธุชนในโลกนี้ต้องการความอิ่มใจ ต่างก็เคยพบเคยเห็นเคยมีความสุขความอิ่มใจมาแล้วทุกคน มิใช่หรือ ความสุขและความอิ่มใจอันนั้น ต่างคนก็รู้แล้วว่าเป็นของดี ทำไมจึงไปคิดและถือเอาความสุขนั้นไว้ ประจำสันดานจนตลอดชีวิต


ข้อนี้เนื่องมาจากความไม่เที่ยงอันเป็นความจริงของโลกนั้นเอง มาตัดรอนให้จิตใจแปรผันไปหน่วงเหนี่ยวยึดถือ เอาความคิดความเห็นอันไม่เป็นที่พอใจ มาปรากฏขึ้นในสันดาน แล้วก็รู้แจ้งขึ้นว่าเป็นทุกข์ใจคอไม่สบาย ประเดี๋ยวเท่านั้นได้พบหรือได้เห็นสิ่งเป็นที่หัวเราะพอใจ ก็กลับมีความสุขแช่มชื่นขึ้นอีก


เหตุนั้นเจ้าสังขารคือความคิดความนึกอันปรับปรุงขึ้นมาก็เป็นเจ้ามายา เจ้าเล่ห์ เจ้ากล อีกอันหนึ่ง โดยศัพท์ว่า มายุปะมัญจะ สังขารา แปลว่า เจ้าสังขารผู้ช่างนึกช่างคิดปรับปรุงประจำ สันดานนี้ก็เจ้ามายาใหญ่ คือประเดี๋ยวก็ปรุงและคิดอารมณ์อันเป็นที่พอใจขึ้นมา เจ้าวิญญาณรับรู้ว่าเป็นสุข ก็เข้าอาศัยและยึดถือ ประเดี๋ยวก็นึกคิดปรับปรุงอารมณ์ไม่เป็นที่พอใจขึ้นมา พล่าอารมณ์ที่ดีคือความพอใจอันนั้นให้เสื่อมหายไป เจ้าวิญญาณก็รับรู้ว่าใจคอไม่สบาย ยุ่งและจุกจิกคือทุกข์ใจขึ้นมา


ตกลงว่า ความเป็นอยู่ของสาธุชนทุกจำพวก ยกเว้นพระอริยเจ้าผู้ได้ประสบสันติสุขแล้ว ล้วนแต่ถูกสังขารหลอกทั้งนั้น แล้วแต่เจ้าสังขารปรุงหรือคิดขึ้นมาอย่างไร ก็เป็นไปตามปรุงความสุขขึ้นมาก็พลอยสุขไปตาม ประเดี๋ยวปรุงความทุกข์ขึ้นมา ก็พลอยทุกข์ไปตาม ตกลงว่าถึงจะมีชีวิตอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี ๑,๐๐๐ ปีก็ดี ปรุงแต่สุขหรือทุกข์เท่านั้น ลวงตนเล่นอยู่ หาที่พึ่งมิได้ แล้วแต่สังขารจะปรุงให้ร้องไห้ก็ร้องไห้ เจ้าสังขารจะปรุงให้หัวเราะก็หัวเราะขึ้นเท่านั้น


ตกลงว่า อำนาจของจิตไม่มี เพราะเจ้าสังขารลวงเล่น ไม่มีเวลาหยุด ฉะนั้น สมเด็จพระบรมศาสดาจึงตรัสเทศนาสรรเสริญความสงบจิต เอา อาโยโคความเข้าไปสงบจิต เป็นยอดคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เมื่อจิตสงบกายและสงบวาจา เมื่อกายสงบก็เป็นศีลสังวร เสร็จอยู่ที่ใจสงบ เหตุนั้น การรักษาศีลสมาธิปัญญารวมอยู่ที่ใจสงบเท่านั้น


เหตุนั้น ท่านจึงรักษาศีลสมาธิปัญญารวมอยู่ที่ใจสงบ ไม่ต้องไปอ่าน หรือนับว่านี้ศีล นี้สมาธิ นี้ปัญญา เมื่อรักษาจิตให้สงบแล้ว ก็บริบูรณ์ พร้อมทั้งศีลสมาธิปัญญา เมื่อไม่มีปัญญา จิตก็ไม่สงบ เมื่อปัญญาทำจิตให้สงบได้แล้ว ศีลสมาธิก็บริบูรณ์ขึ้นในขณะนั้น


เหตุนั้นสาธุชนผู้ต้องการอยาก เป็นผู้มีศีลมีสมาธิในศาสนาของพระพุทธเจ้าแล้ว ขอท่านจงแสวงหาครูอาจารย์แนะนำทางปัญญา หา อุบายทำให้จิตสงบลงเมื่อใด ก็เมื่อนั้นท่านจะเป็นผู้ บริบูรณ์ไปด้วยศีล ด้วยสมาธิ ปัญญา ดังรับประทาน วิสัชนามาก็สมควรแก่กาละเวลาดังนี้"


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น